http://www.srichinda.com
    
 ศรีจินดาหน้าหลัก  มีข่าวดีมาบอก  วิธีชำระเงิน  ศรีจินดาChat room  วิธีสั่งซื้อ-จัดส่ง  Awards : รางวัล แผนที่-ติดต่อศรีจินดา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
Menu
ศรีจินดาหน้าหลัก
มีข่าวดีมาบอก
วิธีชำระเงิน
ติดต่อศรีจินดา
วิธีสั่งซื้อ-จัดส่ง
ศรีจินดาChat room
หมวดหมู่สินค้า
สินค้ามาใหม่
สินค้าขายดี
 สินค้า
 สินค้าไทย ( Thai )
 สินค้าทิเบตและAsia
 สินค้าเทวรูป-ฮินดู
 หินมงคลแห่งรัก
 อุปกรณ์บูชาอื่นๆ
รู้เรื่อง : ฮินดูเทพ
รู้เรื่องพระพิฆเนศ
ย้อนรอยรุ่นดัง
สถานที่แห่งศรัทธา
พระราชพิธีและพิธีสำคัญทางศาสนา
 

ลำดับพระราชพิธีตรียัมปวาย ปี 2552

เรียบเรียง บทความ เนื้อหา : " อักษรชนนี "                          ออกแบบ จัดเรียง : " ศรีจินดา "

ลำดับพระราชพิธีตรียัมปวาย มีทั้ง 2 ตอน ทุกท่านสามารถติดตามได้ในบทความนี้จนจบครับ

หลายท่านที่ผ่านไป-มาบริเวณหน้าเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ ๑๑ มกราคม แล้วเห็นผู้คนใส่ชุดขาวอยู่ภายในบริเวณเทวสถานเป็นจำนวนมาก คงจะนึกสงสัยว่ามีงานพิธีอะไรกันจึงทำให้มีผู้มาร่วมในพิธีมากขนาดนี้ เพราะเนื่องจากปกติเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์จะเปิดให้คนเข้าไปสักการะพระเป็นเจ้าเท่านั้น ไม่มีการประกอบพิธีให้ประชาชนได้เข้าไปร่วมเท่าไรนัก (ยกเว้นพระราชพิธีหรือพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระราชสำนักเท่านั้น) ซึ่งจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ผู้ที่นับถือพระเป็นเจ้าทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและผู้ที่ติดตามข่าวสารประกาศของทางเทวสถานว่า ในวันนี้เป็นวันที่ประกอบพิธีช้าหงส์ อันเป็นหนึ่งในพิธีสำคัญในพระราชพิธีตรียัมปวาย โดยเริ่มพระราชพิธีมาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ มกราคมแล้ว แต่ในคืนวันที่ ๑๑ มกราคมนี้ถือว่าเป็นคืนที่สำคัญที่สุดของพระราชพิธีตรียัมปวาย จึงทำให้ในคืนดังกล่าวมีผู้คนหลั่งไหลกันมาร่วมในพิธีสำคัญเป็นจำนวนมาก

Image

Image

(บรรยากาศภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในวันที่ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย)

Image

(เทวรูปพระอิศวร ศิลปะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในโบสถ์ใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย)

พระราชพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีที่กระทำกันในตอนต้นปี ถือว่าเป็นช่วงขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์(ฝ่ายไทย) และเป็นพิธีอัญเชิญเสด็จพระอิศวรลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมโลก เป็นเวลา ๑๐ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันเสด็จลง (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒) จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ เป็นวันเสด็จกลับ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒) โดยในระหว่างที่พระอิศวรเสด็จประทับอยู่ในโลกมนุษย์เป็นเวลา ๑๐ วันนี้ พราหมณ์จะประกอบพิธีต้อนรับที่เรียกว่า “ตรียัมปวาย” มีการอ่านโศลกสรรเสริญ ถวายข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้ต่างๆ และมีเทพยดาทั้งหลาย เป็นต้นว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่คงคา และพระแม่ธรณี มาประชุมพร้อมกันเพื่อรับเสด็จ (ซึ่งรูปเทพยดาดังกล่าวถูกจำลองมาเป็นนางกระดาน เพื่อทำพิธีฝังไว้ในหลุมข้างสถานพระอิศวร สมมติแทนเทพยดามาเข้าเฝ้าพระเป็นเจ้า เป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๑๑ ค่ำ) และในอดีตจะมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งปัจจุบันพิธีโล้ชิงช้านี้ได้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗

Image

(นางกระดานทั้งสามที่ใช้ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๑๑ ค่ำ)

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงบรรยากาศและลำดับพิธีเมื่อคืนวันที่ ๑๑ มกราคม ซึ่งเป็นพิธีช้าหงส์ส่งพระอิศวร ก็ควรที่จะทราบถึงลำดับพิธีก่อนหน้าตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ มกราคม อันเป็นวันแรกของพระราชพิธีตรียัมปวายก่อน โดยจะกระทำพิธีภายในสถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) เริ่มพิธีในเวลา ๔.๐๐ น. – ๖.๐๐ น. (วันขึ้น ๖ ค่ำ) เป็นการถือพรต คณะพราหมณ์จะประกอบพิธีชำระกายผูกพรต ด้วยการคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่ง ตามลำดับอาวุโสแห่งพรต (การถืออาวุโสแห่งพรตนี้ คือการถือลำดับก่อนหลังของการบวช มิใช่การถือตามอายุหรือฐานันดร) และในช่วงที่ถือพรตนี้ พราหมณ์จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ และประพฤติพรหมจรรย์ตลอดตั้งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ จนถึงวันขึ้น ๙ ค่ำจึงออกพรตได้ ยกเว้นเพียงพระราชครูพิธีที่จะต้องถือพรตไปตลอดพระราชพิธีตรียัมปวายและพระราชพิธีตรีปวาย เป็นเวลา ๑๕ วัน จากนั้นในเวลา ๒๐.๐๐ น. พระราชครูวามเทพมุนี จะอ่านพระเวท เปิดประตูเทวาลัย และเริ่มสวดสักการะภายในสถานพระอิศวร และสถานพระคเณศ ซึ่งพิธีจะเสร็จในเวลาประมาณ ๒๒ .๐๐ น.

Image

Image

(พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีอวิสูทธ เพื่อชำระกายให้บริสุทธิ์ด้วยพระเวทก่อนเริ่มบูชา )

ในวันที่ ๓ มกราคม (ขึ้น ๘ ค่ำ) - วันที่ ๑๑ มกราคม (แรม ๑ ค่ำ) เวลาเช้าตรู่ (ประมาณ ๗.๐๐ น.) พราหมณ์จะประกอบพิธีถวายข้าวเวทย์ ซึ่งข้าวเวทย์มีลักษณะเป็นข้าวสารที่กวนกับกะทิ ใส่นม แล้วกวนไม่ให้เหลวจนเกินไปนัก เมื่อได้ที่จึงตักใส่จาน โดยที่รอบๆขอบจานจะวาง กล้วย อ้อย น้ำตาลงบ เผือกต้ม ข้าวต้มน้ำวุ้น แตงกวา ส้ม และมันต้ม (ทั้งหมดจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ) ถือกันว่าข้าวเวทย์ เป็นอาหารที่จะทำถวายพระเป็นเจ้าในช่วงพระราชพิธีตรียัมวายและตรีปวาย จากนั้นพิธีจะเริ่มอีกครั้งในเวลาค่ำ (ประมาณ ๒๐.๐๐ น.) โดยเริ่มจากพระราชครูประกอบพิธีอวิสูทธชำระกายจุณเจิม ซึ่งเป็นพิธีชำระกายให้บริสุทธิ์ด้วยพระเวทก่อนเริ่มบูชา หลังจากเสร็จพิธีอวิสูทธแล้ว พราหมณ์จะนำคัมภีร์สมุดข่อยที่วางไว้บนกากะเยียจากหน้าพระราชครูไปวางไว้บนโต๊ะข้าวตอก จากนั้นพราหมณ์จำนวน ๔ คนจะคลานเข้าไปกราบที่หน้าพระราชครูตามลำดับพรต ซึ่งพระราชครูก็จะประพรมน้ำเทพมนต์ให้ด้วยขลัง (มัดหญ้าคา) เสร็จแล้วพรามณ์ทั้งหมดจะเดินไปยืนเรียงลำดับตามพรตที่หน้าโต๊ะข้าวตอกเพื่อประกอบพิธีสวดสักการะ

เมื่อพราหมณ์ไปยืนเรียงหน้ากระดานหน้าโต๊ะข้าวตอกพร้อมกันทั้ง ๔ คนแล้ว จึงกราบพระเป็นเจ้าพร้อมกันสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นมายืนเป็นแถวตอนเรียงสี่ จากนั้นพราหมณ์และเจ้าหน้าที่เป่าสังข์แล้วจึงเริ่มสวด การสวดสักการะ พราหมณ์ผู้สวดจะสวดคนละวรรค โดยคนที่ ๑ สวดวรรคแรก เรียกว่า “มหาเวชตึก” คนที่ ๒ สวดวรรคที่สอง เรียกว่า “โกรายะตึก” คนที่ ๓ สวดวรรคที่สาม เรียกว่า “สาราวะตึก” คนที่ ๔ สวดวรรคสุดท้าย เรียกว่า “เวชตึก” แล้วพรามหณ์ทั้งสี่จึงสวดพร้อมกันว่า “ลอริบาวาย” ซึ่งในระหว่างที่พรามหณ์สวดคำว่า ลอริบาวาย พร้อมกันนั้น พรามหณ์และเจ้าหน้าที่จะเป่าสังข์เคล้าไปด้วย เมื่อสวดคำว่า ลอริบาวาย ครบสามจบแล้ว จึงหยุดเป่าสังข์ จากนั้นพราหมณ์ทั้งสี่จะเริ่มสวดคนละวรรคซ้ำเหมือนเดิมไปจนถึงลอริบาวายแล้วเป่าสังข์ โดยจะสวดเช่นนี้จำนวน ๑๑ จบจึงจะถือว่าเสร็จสิ้นการสวดสักการะที่สถานพระอิศวร

Image

Image

(พราหมณ์ทั้งสี่คนยืนเรียงแถวสวดสักการะอยู่ด้านหน้าเทวรูปประธานของสถานพระอิศวร)

เมื่อการสวดสักการะเสร็จสิ้น พระราชครูจึงลุกจากที่นั่งไปยังโต๊ะข้าวตอกเพื่อประพรมน้ำเทพมนต์ที่สิ่งของบูชาต่างๆ เช่น ข้าวตอก กล้วย ส้ม เผือกต้ม มันต้ม แตงกวา ข้าวต้มน้ำวุ้น อ้อย และมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปือกทั้งอ่อนและแก่ จากนั้นจึงแกว่งคันชีพ ( เป็นจงกลเทียนที่มีหลายกิ่ง หล่อจากทองเหลือง) สั่นกระดิ่ง ถวายดอกไม้แล้วพระราชครูจึงกลับไปนั่งที่เดิม พราหมณ์สองคนนำตะลุ่มไม้สีดำจำนวนสามใบมายังโต๊ะข้าวตอก เพื่อจัดของบูชาบนโต๊ะใส่ในตะลุ่มทั้งสามนั้นเสร็จแล้วนำตะลุ่มที่ใส่ของบูชาวางเรียงไว้บนโต๊ะข้าวตอก พรามณ์จำนวนสามคน (ซึ่งทำหน้าที่สวดสักการะก่อนหน้านี้) เรียงลำดับทีละคนเข้าประกอบพิธียกอุลุบ (คือการยกตะลุ่มที่ใส่ของบูชาต่างๆถวายแด่พระเป็นเจ้าด้วยการสวดพระเวทถวาย) เมื่อพราหมณ์ยกอุลุบครบทั้งสามคนแล้ว จึงถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีในสถานพระอิศวร โดยของบูชาในอุลุบและบนโต๊ะข้าวตอก (ในพิธีระหว่างวันขึ้น ๗ ค่ำ – วันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือที่ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒ – ๑๐ มกราคม) จะนำมาแจกจ่ายให้กับพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีและประชาชนที่เข้ามาร่วมพิธีทุกคนได้รับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล

Image

(พราหมณ์ประกอบพิธียกอุลุบถวายพระเป็นเจ้า)

หลังจากเสร็จพิธีสวดสักการะในสถานพระอิศวรแล้ว พรามหณ์จะไปประกอบพิธีสวดสักการะต่อที่สถานพระคเณศ ซึ่งลำดับพิธีจะคล้ายคลึงกับที่ทำในสถานพระอิศวร เว้นเพียงแต่ไม่มีการทำอวิสูทธ เพราะได้ทำไปแล้วที่สถานพระอิศวร และจะสวดสักการะเพียง ๙ จบ ต่างจากการสวดสักการะที่สถานพระอิศวรที่สวด ๑๑ จบ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีในสถานพระคเณศ พราหมณ์ก็จะทำการแจกจ่ายของบูชาให้กับประชาชนที่มาฟังการสวดภายในสถานพระคเณศอีกเช่นกัน

ลำดับพิธีที่กล่าวมาในข้างต้นจะกระทำตลอดทั้ง ๑๐ คืนแห่งพระราชพิธีตรียัมปวาย จนกระทั่งในวันแรม ๑ ค่ำ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม) อันถือเป็นวันสำคัญที่สุดของพระราชพิธีตรียัมปวาย ในเวลาเช้าตรู่ (ประมาณ ๗.๐๐ น.) มีพิธีถวายข้าวเวทย์ เหมือนดังเช่นที่ทำมาทุกวัน ต่อมาในเวลา ๑๕.๐๐ น. ประกอบพิธีเปิดประตูเทวลัย ณ สถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. คณะพราหมณ์และประชาชนที่มาร่วมในพิธีภายในเทวสถาน ตั้งแถวรอรับเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศที่จะอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังโดยรถยนต์พระประเทียบ เพื่ออัญเชิญมาร่วมในพระราชพิธีตรียัมปวายและประกอบพิธีช้าหงส์

Image

(พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีเปิดประตูเทวลัย ณ สถานพระนารายณ์)

Image

Image

(คณะพราหมณ์และประชาชนยืนรอรับเทวรูปบริเวณด้านหน้าเทวสถานและเป็นแถวยาวเรื่อยไปจนถึงหน้าประตูสถานพระอิศวร)

สำหรับเทวรูปหลวงที่อัญเชิญมาร่วมในพระราชพิธีตรียัมปวายและพระราชพิธีตรีปวายนั้น ประกอบด้วยเทวรูปพระอิศวร (ในปางศิวนาฏราช) พระอุมา และพระคเณศองค์เล็กๆ ซึ่งประดิษฐานร่วมกันภายในบุษบกไม้ เทวรูปพระพรหม และ เทวรูปพระนารายณ์ โดยก่อนที่จะอัญเชิญมาประกอบพิธียังเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระสุหร่าย (พรมน้ำมนต์) และทรงเจิมที่เทวรูป แล้วจึงทรงจุดเทียนนมัสการพระเป็นเจ้า จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระราชครูเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับนำมาใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ (ระยะหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์)

Image

(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมเทวรูปพระเป็นเจ้า เพื่อพระราชทานให้อัญเชิญมาร่วมในพระราชพิธีตรียัมปวายและพระราชพิธีตรีปวาย)

Image

(ในระยะหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการเจิมเทวรูปพระเป็นเจ้า)

รถยนต์พระประเทียบจากพระบรมมหาราชวังมาถึงหน้าเทวสถาน ในเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังส่งพานบุษบกที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศให้แก่พระราชครูวามเทพมุนี เพื่ออัญเชิญเข้าไปประดิษฐานในสถานพระอิศวร โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญพานกระทงดอกไม้ พร้อมทั้งเทียนนมัสการจำนวนสองเล่ม และธูปจำนวนสามดอกซึ่งจุดมาจากพระบรมมหาราชวัง เดินตามพระราชครูเข้าไปยังสถานพระอิศวร (ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะเป่าสังข์ตลอดเวลาจนกระทั่งเทวรูปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ด้านหน้าแท่นที่ประดิษฐานเทวรูปประธานของสถานพระอิศวรแล้วจึงหยุดเป่า)

Image

Image

Image

Image

(พระราชครูอัญเชิญพานบุษบกซึ่งประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศจากรถพระประเทียบเดินเข้าสู่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญพานกระทงดอกไม้ และธูปเทียนเดินตามหลัง)

และเมื่อพระราชครูอัญเชิญพานบุษบกประดิษฐานบนโต๊ะหมู่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังส่งเทียนนมัสการให้พระราชครูปักบนเชิงเทียน ส่งธูปปักลงบนกระถาง และวางกระทงดอกไม้ถวายด้านหน้าพานบุษบก จากนั้นพระราชครูเดินอ้อมมาหน้าโต๊ะเข้าตอกแล้วกราบสามครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีอัญเชิญเทวรูปในช่วงเย็น

Image

(พระมหาราชครูอัญเชิญพานบุษบกประดิษฐานไว้บนโต๊ะหมู่หน้าแท่นที่ประดิษฐานเทวรูปประธาน)

Image

Image

(พระราชครูปักธูป เทียนและ วางกระทงดอกไม้นมัสการเทวรูป)

Image

(บุษบกประดิษฐานเทวรูปตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ เพื่อรอเข้าในพระราชพิธีตรียัมปวายและช้าหงส์ในตอนค่ำ) 

(เทวรูปพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ ได้แก่ พระอิศวร (ในปางนาฏราช) พระอุมา และพระคเณศ ประดิษฐานอยู่รวมกันในบุษบกไม้ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมพระราชทานให้มาร่วมในพระราชพิธีตรียัมปวาย)

ในช่วงค่ำเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลังจากที่อัญเชิญเทวรูปจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานภายในสถานพระอิศวรแล้ว จะเริ่มประกอบพิธีสวดสักการะและช้าหงส์ตามลำดับ โดยการจัดสถานที่ภายในสถานพระอิศวรสำหรับประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายในวันแรม ๑ ค่ำนั้น (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม) จะมีความแตกต่างจากการประกอบพิธีเมื่อ ๙ วันก่อนหน้านี้ (คือระหว่างวันขึ้น ๗ ค่ำ – วันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือปีนี้ตรงกับวันที่ ๒ – ๑๐ มกราคม) เพราะในคืนวันแรม ๑ ค่ำ นอกจากที่จะตั้งโต๊ะข้าวตอก (ซึ่งเป็นโต๊ะสำหรับใส่ข้าวตอก ผลไม้ และของบูชาอื่นๆสำหรับถวายพระเป็นเจ้าในช่วงพระราชพิธีตรียัมปวาย) ไว้ด้านหน้าแท่นประดิษฐานเทวรูปประธานแล้ว บริเวณกลางสถานพระอิศวรยังมีเสาสีขาวขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เสาหงส์” (สูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร) ซึ่งบัดนี้พราหมณ์ได้ทำการเชิญหงส์ขั้นมาแขวนบนเสาเพื่อเตรียมสำหรับใช้ในการประกอบพิธีช้าหงส์เรียบร้อยแล้ว โดยที่ตัวหงส์จะมีการปักเทียนขี้ผึ้งไว้ทั้งหมด ๖ เล่ม คือ ที่ปากหงส์ ๑ หางหงส์ ๑ ที่ปีกหงส์ด้านซ้าย ๒ และที่ปีกหงส์ด้านขวาอีก ๒ (เป็นที่ร่ำลือกันว่า น้ำตาเทียนที่หยดจากปากหงส์ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า สีผึ้งปากหงส์นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้มา เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้สำเร็จสิ่งต่างๆ ได้ดังใจหวัง) บนยอดเสาทั้งสองข้างปักฉัตรขาว ต้นกล้วย และต้นอ้อย

แผนผังภายในสถานพระอิศวร ซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคมที่ผ่านมา

Image


Image

เสาหงส์และหงส์ที่ใช้ในพิธีช้าหงส์ภายในสถานพระอิศวร

บริเวณด้านหน้าเสาที่แขวนหงส์ ตั้งศิลาบด (สีขาว) ที่เรียกว่า “บัพโต” ไว้อันหนึ่ง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ว่า บัพโต หรือ ศิลาบดนี้พราหมณ์ใช้ต่างว่าเป็นภูเขา) ถัดจากเสาหงส์ไปไม่ไกลนัก ระหว่างเสาคู่ใกล้กับประตูทั้งสองของสถานพระอิศวร เป็นที่ตั้งของสถานที่ประกอบพิธีบูชาของพระราชครูพราหมณ์ ซึ่งมี “โต๊ะเบญจคัพย์” อยู่ด้านหน้า (มีลักษณะเป็นโต๊ะสีขาว มีความสูงไม่มากนัก บนโต๊ะมีถ้วยขนาดเล็กซึ่งทำจากวัสดุที่ต่างกันจำนวน ๖ ใบ ได้แก่ แก้ว ทอง นาก เงิน สำริด เหล็ก โดยในถ้วยทั้งหมดจะยังไม่มีการเติมน้ำใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังตั้งสังข์ไว้ทางด้านขวา และตั้งกลศไว้ทางด้านซ้ายบนโต๊ะเบญจคัพอีกด้วย) ติดกันเป็น “ภัทรบิฐทอดขลัง” (มีลักษณะเป็นโต๊ะสีขาวคล้ายกับโต๊ะเบญจคัพ แต่มีขนาดสูงกว่าเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ถึงลักษณะบนโต๊ะว่า จะทอดแป้งเป็นช่องๆแล้วโรยด้วยข้าวสาลีเหมือนกับที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ด้านข้างทางซ้ายมือของที่นั่งพระราชครู ตั้งกากะเยีย(ที่มีคัมภีร์สมุดข่อยวางไว้ด้านบน)และโคมไฟ สำหรับให้พระราชครูอ่านพระเวทที่ใช้ในการประกอบพิธี

Image

(ภาพโต๊ะเบญจคัพย์ซึ่งมีพานบุษบกเทวรูปตั้งอยู่และภาพภัทรบิฐทอดขลัง ที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีตรียัมปวาย)

Image

(ที่ประกอบพิธีบูชาของพระราชครูพราหมณ์)

พิธีในช่วงค่ำเริ่มเมื่อพระราชครูวามเทพมุนีซึ่งเวลานี้แต่งกายด้วยผ้านุ่งโจงสีขาว สวมเสื้อสีขาวยาวโดยลดไหล่ข้าวขวา (เป็นชุดสำหรับใช้ในการประกอบพิธีของพระราชครูพราหมณ์) เดินเข้าไปด้านหน้าโต๊ะหมู่ที่ตั้งพานบุษบกประดิษฐานเทวรูป จากนั้นพระราชครูนำเทียนสีเหลืองขนาดใหญ่ทำการต่อไฟจากเทียนหลวงพระราชทาน(ที่เชิญมาจากพระบรมมหาราชวังพร้อมกับเทวรูป) ซึ่งปักไว้บนเชิงเทียนด้านหน้าพานบุษบก แล้วจึงอัญเชิญพานบุษบกออกมาจากโต๊ะหมู่ โดยประคองพานบุษบกไว้ด้วยมือข้างซ้าย ส่วนมือข้างขวาถือเทียนใหญ่ที่จุดไฟไว้เป็นที่เรียบร้อย แล้วเดินไปประกอบพิธียังที่ประกอบพิธีบูชาซึ่งได้จัดเตรียมไว้

Image

Image

Image

(พระราชครูอัญเชิญพานบุษบกประดิษฐานเทวรูปจากโต๊ะหมู่เพื่อเชิญไปยังที่ประกอบพิธี)

เมื่อพระราชครูอัญเชิญพานบุษบกเทวรูปมาถึงที่ประกอบพิธีบูชา จึงส่งเทียนให้พรามณ์รับไว้ แล้ววางพานบุษบกเทวรูปไว้บนโต๊ะเบญจคัพ โดยหันหน้าเทวรูปทั้งสามองค์ไปยังที่ประดิษฐานเทวรูปประธานของสถานพระอิศวร จากนั้นพระราชครูทำอวิสูทธ (หรือ อาตมะวิสูทธิ์) อ่านเวทสอดสังวาลพราหมณ์ (หรือ ยัชโญปวีต) สวมแหวนเกาบิล

Image

Image 
(พระราชครูตั้งพานบุษบกเทวรูปไว้บนโต๊ะเบญจคัพย์)

Image

Image

Image

Image 
(พระราชครูทำพิธีอวิสูทธชำระกายให้สะอาดก่อนเริ่มพิธีต่อไป)

จากนั้นพราหมณ์จะนำคัมภีร์สมุดข่อยที่วางไว้บนกากะเยียจากหน้าพระราชครูไปวางไว้บนโต๊ะข้าวตอก พราหมณ์ ๔ คนคลานเข้าไปกราบที่หน้าพระราชครูตามลำดับพรต ซึ่งพระราชครูก็จะประพรมน้ำเทพมนต์ให้ด้วยขลัง (มัดหญ้าคา) เสร็จแล้วพรามณ์ทั้งหมดจะเดินไปยืนเรียงลำดับตามพรตที่หน้าโต๊ะข้าวตอก

Image

Image

Image

(พราหมณ์นำกากะเยียไปตั้งไว้บนโต๊ะข้าวตอกเพื่อใช้ในการสวดสักการะ)

เมื่อพราหมณ์ไปยืนเรียงหน้ากระดานหน้าโต๊ะข้าวตอกพร้อมกันทั้ง ๔ คนแล้ว จึงกราบพระเป็นเจ้าพร้อมกันสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นมายืนเป็นแถวตอนเรียงสี่ จากนั้นพราหมณ์และเจ้าหน้าที่เป่าสังข์แล้วจึงเริ่มการสวดสักการะ การสวดสักการะในคืนวันแรม ๑ ค่ำนั้นจะต่างจากในการสวดใน ๙ คืนก่อนหน้านี้ที่สวดทั้งหมด ๑๑ จบ แต่ในคืนวันแรม ๑ ค่ำ พราหมณ์จะสวดทั้งสิ้น ๑๓ จบ

Image

Image 
(พราหมณ์ทั้งสี่ประกอบพิธีสวดสักการะหน้าเทวรูปประธานของสถานพระอิศวร)

เมื่อเสร็จสิ้นการสวด พระราชครูเดินไปกราบที่หน้าโต๊ะเข้าตอก ๓ ครั้ง แล้วประพรมน้ำเทพมนต์สิ่งของบูชาต่างๆบนโต๊ะข้าวตอก ได้แก่ ข้าวตอก กล้วย ส้ม เผือกต้ม มันต้ม แตงกวา ข้าวต้มน้ำวุ้น ที่ใต้โต๊ะข้าวตอกมีอ้อย และมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปลือกทั้งอ่อนและแก่ สังเกตได้ว่านอกจากจะมีของบูชาบนโต๊ะข้าวตอกตามปกติเหมือนกับที่จัดถวายพระเป็นเจ้าในทุกๆวันของพระราชพิธีนี้แล้ว ในคืนวันแรม ๑ ค่ำยังมีการจัดของถวายเพิ่มเติมอีกกลายอย่าง ทั้งน้ำตาลที่ขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่างๆตามแบบที่เทวสถานกำหนด และผลไม้ต่างๆที่บรรจุในโหลแก้ววางไว้บนโตกมุก เมื่อประพรมน้ำเทพมนต์แล้ว พระราชครูแกว่งคันชีพ ( เป็นจงกลเทียนที่มีหลายกิ่ง หล่อจากทองเหลือง) สั่นกระดิ่ง ถวายดอกไม้แล้วจึงกลับไปนั่งที่เดิม


Image

Image
(พระราชครูประพรมน้ำเทพมนต์และถวายดอกไม้บูชาที่หน้าโต๊ะข้าวตอก)

จากนั้นพราหมณ์สองคนนำตะลุ่มไม้สีดำจำนวน สามใบมายังโต๊ะข้าวตอก เพื่อจัดของบูชาบนโต๊ะใส่ในตะลุ่มทั้งสามนั้น เสร็จแล้วนำตะลุ่มที่ใส่ของบูชาวางเรียงไว้บนโต๊ะข้าวตอก พรามณ์ ๓ คน (ซึ่งทำหน้าที่สวดสักการะก่อนหน้านี้) เรียงลำดับทีละคนเข้าประกอบพิธียกอุลุบ (คือการยกตะลุ่มที่ใส่ของบูชาต่างๆแด่พระเป็นเจ้าด้วยการสวดพระเวทถวาย) เมื่อพราหมณ์ยกอุลุบครบทั้งสามคนแล้ว จึงถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีในสถานพระอิศวร

Image

Image

Image

(พราหมณ์ยกอุลุบถวายพระเป็นเจ้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย)

โดยอุลุบและของบูชาทั้งหมดที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ถือว่าเป็นของถวายหลวง ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีในคืนวันนี้แล้ว จะไม่มีการแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมพิธี เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น คณะพราหมณ์จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมาทุกครั้งภายหลังจากที่เสร็จสิ้นพระราชพิธีตรียัมวายในคืนวันแรม ๑ ค่ำของทุกปี

Image

Image

(พราหมณ์เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายอุลุบและเครื่องประกอบพิธีบูชาในพระราชพิธีตรียัมปวาย)

เมื่อเสร็จพิธีสวดสักการะภายในสถานพระอิศวรแล้ว พราหมณ์จะไปประกอบพิธีสวดสักการะต่อที่สถานพระคเณศ แล้วจึงกลับมาประกอบพิธีต่อยังสถานพระอิศวร โดยพระราชครูจะเริ่มต้นด้วยการอ่านพระเวทสองจบ แล้วทักษิณบูชาศาสตร์ รินน้ำเบญจคัพย์ลงถ้วย ถวายธูปเทียนดอกไม้บูชาสังข์กลศ แล้วอ่านเวทสนานหงส์อีกจบหนึ่ง จากนั้นจึงเชิญเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศในบุษบกลงมาสรงน้ำด้วยกลศและสังข์ ถวายใบมะตูม เสร็จแล้วพระราชครูเชิญเทวรูปทั้งสามขึ้นประดิษฐานบนภัทรบิฐ แล้วถวายสายธุรำ (ยัชโญปวีต)

Image

Image 
(พระราชครูพราหมณ์กลับมาประกอบพิธีต่อที่สถานพระอิศวรหลังจากเสร็จสิ้นการสวดสักการะที่สถานพระคเณศ)

Image

Image

Image 
(อัญเชิญเทวรูปลงจากบุษบกเพื่อสรงน้ำด้วยกลศและสังข์)

Image 
(เชิญเทวรูปจากที่สรงน้ำขึ้นประดิษฐานบนภัทรบิฐ)

จากนั้นพระราชครูออกไปยังที่ประดิษฐานศิวลึงค์ บริเวณด้านนอกสถานพระอิศวร (ระหว่างสถานพระอิศวรกับสถานพระคเณศ) แล้วสรงศิวลึงค์ด้วยกลศและสังข์ ถวายใบมะตูม จุณเจิมและแกว่งคันชีพบูชาศิวลึงค์ จากนั้นพระราชครูกลับเข้าไปในสถานพระอิศวรทำการสรงหงส์(ที่แขวนอยู่บนเสา)ด้วยกลศและสังข์ ถวายใบมะตูม และจุณเจิมที่บริเวณคอหงส์ แล้วแกว่งคันชีพบูชาหงส์ แล้วกลับมาที่ประกอบพิธี กระทำสารทบูชาอ่านเวท

ระหว่างนี้ที่ด้านนอกสถานพระอิศวร พระครูญาณสยมภูว์ (พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน) ได้ออกมานำน้ำเทพมนต์ที่ได้มาจากการสรงเทวรูปพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ มาประพรมบริเวณเขาไกรลาศจำลองที่ประดิษฐานเทวรูปพระศิวะ พระคเณศ ศิวลึงค์ และเทวรูปต่างๆซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของประตูทางเข้าเทวสถาน จากนั้นจึงนำน้ำเทพมนต์ที่เหลือไปประพรมให้กับประชาชนที่มาร่วมพิธีในเทวสถานโดยทั่วกัน

Image

Image 
(พระราชครูบูชาศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างสถานพระอิศวร) 

Image

Image

Image

(พระราชครูสรงหงส์ด้วยกลศและสังข์ พร้อมทั้งจุณเจิมและแกว่งคันชีพบูชาหงส์)

Image

พระครูพราหมณ์ประพรมน้ำเทพมนต์ให้ผู้ที่มาร่วมพิธีโดยทั่วกัน

หลังจากทำสารทบูชาอ่านเวทจบแล้ว จึงอัญเชิญเทวรูปจากภัทรบิฐลงไปประดิษฐานในพานทอง ถวายดอกไม้ แล้วเชิญพานทองนั้นเดินเวียนประทักษิณรอบที่ตั้งหงส์ โดยพระราชครูเชิญที่ประดิษฐานเทวรูปไว้ด้วยมือข้างซ้าย ส่วนมือข้างขวาถือเทียนเหลืองขนาดใหญ่ที่จุดไฟไว้แล้ว โดยพระราชครูจะทำการเดินเวียนประทักษิณรอบหงส์จำนวน ๓ รอบ ซึ่งแต่ละรอบเมื่อถึงบัพโต พระราชครูจะยกเท้าขวา ก้าวเหยียบบนศิลาบดครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินเวียนต่อไป และเมื่อมาถึงบัพโตอีกก็เหยียบศิลาบดอีกจนครบสามครั้ง จึงส่งพานทองให้พราหมณ์อัญเชิญเทวรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนหลังหงส์ ในระหว่างที่พราหมณ์เชิญเทวรูปประดิษฐานในบุษบกบนหลังหงส์นั้น พระราชครูจะยืนเหยียบบัพโตตลอดเวลาจนกระทั่งพราหมณ์ประดิษฐานเทวรูปแล้วเสร็จ พระราชครูจึงก้มลงกราบ และแกว่งคันชีพบูชาที่หน้าหงส์

จากนั้นพระราชครูกลับมายังที่นั่งแล้วอ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้วจึงสรรเสริญไกรลาศ แล้วอ่านเวทส่งพระอุมา อ่านสดุดี อ่านสรงน้ำพิเนศ ต่อมาจุดเทียน ๘ เล่ม มีดอกไม้ตั้งไว้ ๘ ทิศ แล้วจึงอ่านเวทเวียนไปตามทักษิณาวัตรทั้ง ๘ ทิศ (เรียกว่า โตรทวาร) ลำดับต่อไปพราหมณ์จำนวน ๒ คนอ่านพระเวทช้าหงส์ โดยพราหมณ์อีกคนหนึ่งที่อยู่ด้านข้างหงส์ค่อยๆไกวหงส์อย่างช้าๆ ซึ่งการช้าหงส์นี้จะมีการอ่านพระเวททั้งหมด ๓ บท เป่าสังข์ ๓ ลา แล้วจึงอ่านเวทส่งสารส่งพระเป็นเจ้าอีกบทหนึ่ง จากนั้นพระราชครูอ่านพระเวทปิดประตูเทวลัย จึงถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีตรียัมปวายอย่างสมบูรณ์

Image

Image

Image

(พระราชครูเชิญเทวรูปจากภัทรบิฐลงบนพานเพื่อเตรียมอัญเชิญขึ้นหงส์)

Image

Image

(พระราชครูอัญเชิญพานประดิษฐานเทวรูปและเทียนใหญ่สีเหลืองเดินวนรอบหงส์สามรอบ)


Image

Image

(เมื่อเดินวนครบรอบพระราชครูก็จะเหยียบบัพโตหรือศิลาบดสีขาวหนึ่งครั้ง)


Image

Image

Image

(พราหมณ์อัญเชิญเทวรูปจากพานประดิษฐานในบุษบกบนหลังหงส์ เพื่อเตรียมประกอบพิธีช้าหงส์)


Image

(พระราชครูแกว่งคันชีพบูชาเทวรูปพระเป็นเจ้าที่ประดิษฐานอยู่บนบุษบกหลังหงส์)

Image

(พราหมณ์คู่สวดอ่านพระเวทช้าหงส์)

Image

(พราหมณ์ที่นั่งอยู่ด้านข้างหงส์ค่อยๆไกวหงส์อย่างช้าๆ เสมือนพญาหงส์กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า)

Image

(พระราชครูอ่านพระเวทปิดประตูเทวลัย ถือเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีตรียัมปวายอย่างสมบูรณ์)

.........โอม นมะ ศิวายะ.........

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบในบทความนี้มีที่มาหลายส่วนทั้งที่นำมาจากหนังสือ รวมทั้งภาพถ่ายที่ผู้เรียบเรียงบันทึกภาพด้วยตนเอง ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวมีทั้งที่ถ่ายมาจากสถานที่จริง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าภาพมีความคมชัดค่อนข้างมาก และภาพที่ผู้เรียบเรียงถ่ายมาจากจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทวสถาน ซึ่งภาพที่ออกมาอาจจะมีความคมชัดไม่มาก แต่ก็พอที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นภาพการประกอบพิธีภายในเทวสถานได้อย่างชัดเจนไม่มากก็น้อย

ในส่วนของการเรียบเรียงข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีตรียัมปวายในบทความนี้ ผู้เขียนได้อาศัยการสังเกตจากพิธีจริง แล้วจึงนำมาตรวจทานกับเอกสารต่างๆ ฉะนั้นหากมีลายละเอียดใดที่ผิดพลาดและตกหล่นไป ผู้เรียบเรียงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ และขอน้อมรับทุกความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำปรับปรุงให้บทความมีความถูกต้องและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขออำนาจเทวบารมีแห่งองค์พระอิศวร พระผู้ทรงเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่แห่งสามโลก โปรดจงดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข ความเจริญ ปราศจากภยันตรายทั้งปวงเทอญ

เอกสารและภาพประกอบการเรียบเรียง :


- หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- “กรรมวิธี-ช้าหงส์” โดยพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล)

- บทความเรื่อง “ลำดับพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย” วารสารหอเวทวิทยาคม โดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล )

- หนังสือ ประวัติพระคเณศ ฉบับของเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์

- สูจิบัตรเนื่องในงานเสวนาพิธีฉลองเสาชิงช้า “โล้ชิงช้า พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ ไม่ใช่พราหมณ์ชมพูทวีป” โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

- “โล้ชิงช้า : เสาชิงช้า กับพิธีตรียัมปวาย” และ “ ลำดับพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย” โดย อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

- เอกสารเผยแพร่เรื่อง “พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย” โดย เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์

Image

ขอขอบพระคุณผู้เขียนหนังสือรวมทั้งเจ้าของภาพประกอบ

(ที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น)ทุกท่าน ซึ่งผู้เรียบเรียงได้นำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงรวมทั้งนำภาพมาใช้ประกอบในบทความ

ทางผู้เรียบเรียงจึงขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ครับ

 

 

 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 07/07/2008
ปรับปรุง 30/03/2023
สถิติผู้เข้าชม5,334,240
Page Views6,858,274
สินค้าทั้งหมด 309
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
1-Surin-News
ไปรษณีย์ไทยEMS
Dictionary-Thai-English
รวยด้วย Ebay
ข่าวสดออนไลน์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สลากกินแบ่งรัฐบาล
Igetweb
Tarad.com
PaySbuy
Web-ClipVedeo
เพื่อนบ้านทั้งหมด
 ศรีจินดาหน้าหลัก  ศรีจินดาพาธรรม  ศรีจินดาWebboard  ศรีจินดาพาทัวร์  วิธีชำระเงิน  วิธีสั่งซื้อ-จัดส่ง  ติดต่อศรีจินดา
view