|
เรียบเรียง บทความ เนื้อหา : " อักษรชนนี " ออกแบบ จัดเรียง : " ศรีจินดา "
|
เสียงสังข์ที่ถูกเป่าดังก้องไปทั่วเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบโดยทั่วกันว่า พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในค่ำคืนของวันแรม๕ ค่ำ เดือนยี่ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒) ในบริเวณสถานพระนารายณ์ หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า โบสถ์ริม มีประชาชน ที่ส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่นั่งบนเก้าอี้ซึ่งทางเทวสถานจัดให้ และอีกบางส่วนก็ยืนอยู่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างสถานพระนารายณ์ แต่ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนทุกคนก็มีจุดหมายเดียวกัน เพราะสายตาของคนในที่นั้นทั้งหมดต่างจับจ้องไปยังภาพบนจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ซึ่งกำลังถ่ายทอดพระราชพิธีตรีปวาย ภายในสถานพระนารายณ์ ให้พวกเขาเหล่านั้นที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปด้านในได้ชมกัน
(บรรยากาศด้านข้างและด้านหน้าสถานพระนารายณ์ในคืนวันแรม ๕ ค่ำ)
|
พระราชพิธีตรีปวาย เป็นพิธีที่พราหมณ์กระทำเพื่อรับเสด็จพระนารายณ์ โดยเชื่อว่าภายหลังจากที่พระอิศวรเสด็จกลับเทวโลกแล้ว องค์พระนารายณ์ก็จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ต่อในระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ-วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ – ๑๕ มกราคม) เป็นเวลารวม ๕ วัน ซึ่งในเวลาเช้าจะมีถวายข้าวเวทย์และในเวลาค่ำจะประกอบพิธีการสวดสักการะที่สถานพระนารายณ์ทุกวัน โดยเริ่มวันแรกของพระราชพิธีตรีปวายในวันแรม ๑ ค่ำ (เป็นวันที่ถือเป็นรอยต่อระหว่างพระราชพิธีตรียัมปวายกับพระราชพิธีตรีปวาย) เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. จะมีพิธีในสถานพระนารายณ์ เริ่มด้วยพระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีอวิสูทธ อ่านเวทสอดสังวาลพราหมณ์ สวมแหวนเกาบิล แล้วจึงอ่านเวทย์เปิดประตูเทวลัย จากนั้นพราหมณ์ ๔ คนประกอบพิธีสวดสักการะสถานพระนารายณ์ จากนั้นจึงไปประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายในวันสุดท้ายซึ่งมีการสวดสักการะในสถานพระอิศวรและสถานพระคเณศ รวมทั้งช้างหงส์ส่งพระอิศวรเป็นลำดับต่อไป
(เทวรูปประธานภายในสถานพระนารายณ์)
(พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีในสถานพระนารายณ์ ซึ่งเป็นวันแรกของพระราชพิธีตรีปวาย)
|
ในช่วงที่มีการประกอบพระราชพิธีตรีปวายนั้น จะมีอยู่หนึ่งวันที่อัญเชิญ เทวรูปพระพรหมจากพระบรมมหาราชวังมาประกอบพิธีช้าหงส์ คือในวันแรม ๓ ค่ำ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม) ในเวลา ๑๘.๐๐ น. รถพระประเทียบอัญเชิญเทวรูปพระพรหมที่ประดิษฐานอยู่บนพานทองมาส่งยังเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ พร้อมด้วยธูป เทียนและกระทงดอกไม้พระราชทานสำหรับสักการะพระเป็นเจ้า ในเวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. ประกอบพิธีสวดสักการะที่สถานพระนารายณ์ตามปกติดังเช่นที่ทำมาในวันก่อนหน้านี้ จากนั้นจึงกลับมาประกอบพิธีที่สถานพระอิศวร โดยประกอบพิธีเหมือนกับที่กระทำเมื่อวันแรม ๑ ค่ำ ตัวอย่างเช่น มีการสวดสักการะสถานพระอิศวรและยกอุลุบ ถวายพระเป็นเจ้า อัญเชิญเทวรูปพระพรหมสรงด้วยกลศและสังข์ ถวายใบมะตูม เชิญขึ้นภัทรบิฐ ถวายสายธุรำ(ยัชโญปวีต) แล้วเชิญไปประดิษฐานในบุษบกบนหลังหงส์ พระราชครูอ่านพระเวทบูชา จากนั้นพราหมณ์ประกอบพิธีช้าหงส์ เป็นอันเสร็จพิธีในคืนวันแรม ๓ ค่ำ (สำหรับอุลุบและเครื่องพิธีในคืนดังกล่าว คณะพราหมณ์จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารในวันรุ่งขึ้น)
(พระราชครูประกอบพิธีช้าหงส์ส่งพระพรหมในวันแรม ๓ ค่ำ ภายในสถานพระอิศวร)
(เทวรูปพระพรหมที่อัญเชิญมาประกอบพิธีช้าหงส์)
|
วันสำคัญที่สุดในพระราชพิธีตรีปวายก็คือ วันแรม ๕ ค่ำ (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๕ มกราคม) เพราะถือเป็นวันสุดท้ายของพระราชพิธี และจะมีการประกอบพิธีช้าหงส์ส่งพระนารายณ์ที่โบสถ์ริม โดยพิธีในวันนี้เริ่มขึ้นในเวลา ๗.๐๐ น. พราหมณ์ถวายข้าวเวทย์ จากนั้นในเวลา ๑๕.๐๐ น. ทางเทวสถานตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนเด็กที่จะมาประกอบพิธีตัดจุกและขลิบผมไฟ โดยในปีนี้มีผู้ปกครองและเด็กให้ความสนใจมาร่วมพิธีนี้พอสมควร จากที่ผู้เรียบเรียงสังเกตดูนั้น พบว่าเด็กที่มามีอายุตั้งแต่แบเบาะจนถึงอายุประมาณ ๑๓ ปี บางก็ไว้จุก บางก็ไว้แกละ บางก็ไว้โก๊ะ และส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กแบเบาะอายุเพียงไม่กี่เดือน ที่ผู้ปกครองพามาให้พราหมณ์ขลิบผมไฟให้ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเด็กจะได้รับสายสินธุ์มงคลจากพราหมณ์มาสวมที่คอทุกคน
(ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมพิธีจัดจุกของเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์) (พราหมณ์คล้องสายสินธุ์มงคลให้แก่เด็กที่มาร่วมพิธี)
|
เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์จำนวน ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ภายในสถานพระอิศวร โดยให้เด็กทุกคนที่มาร่วมพิธีนั่งด้านหน้าอาสนะสงฆ์เพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งจากการที่สังเกตภายในพิธีจะพบว่า การตกแต่งสถานที่ประกอบพิธีในสถานพระอิศวรวันนี้ บริเวณโต๊ะหมู่ด้านหน้าเทวรูปประธานอิศวร ชั้นบนสุดประดิษฐานพระพุทธรูป (ปางมารวิชัย) ถัดลงมาชั้นที่สองตั้งพานบุษบกที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศ ร่วมด้วยพานที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ถัดมาด้านหน้าโต๊ะหมู่ เป็นตั่งขนาดใหญ่ปูผ้าขาว สำหรับวางเครื่องพิธีที่จะใช้ในพิธีตัดจุดในวันรุ่งขึ้น เช่น กรรบิด (กรรไกร) ขันบรรจุข้าวสาร(สำหรับปักแว่นแว่นเทียน) พานบายศรี และเครื่องกระยาบวช ฯลฯ รวมทั้งมีเครื่องพิธีต่างๆที่ใช้ตลอดพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย เช่น คัมภีร์สมุดข่อย สังข์ กลศ กากะเยีย คันชีพ กระดิ่ง ธูปเทียน ฯลฯ มาตั้งร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็นวันนี้ด้วย
ตลอดเวลาที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์นั้น ภายในพิธีก็จะได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ บางครั้งก็ได้ยินเดียงเด็กคุยกันจอแจ ตามประสาของเด็ก เป็นภาพที่หาดูได้ยากในสังคมสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับ พราหมณ์ก็ประกาศแจ้งให้ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาร่วมพิธีทราบว่า ในวันรุ่งขึ้นที่จะประกอบพิธีตัดจุก ให้ผู้ปกครองพาเด็กมาพร้อมกันก่อนเวลา ๕.๐๐ น.
(การจัดสถานที่และเครื่องพิธีซึ่งนำมาร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เย็นวันที่ ๑๕ มกราคม)
(พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ภายในสถานพระอิศวร)
|
ซึ่งการจัดสถานที่ประกอบพิธีส่งพระนารายณ์ในโบสถ์ริมคืนวันนี้ คล้ายกับที่จัดในวันส่งพระอิศวรและพระพรหมในโบสถ์ใหญ่ ได้แก่ มีการตั้งโต๊ะข้าวตอกและโต๊ะที่ตั้งเครื่องบูชาต่างๆไว้ที่หน้าเทวรูป ประธาน ถัดมาตรงกลางโบสถ์เป็นเสาหงส์ ซึ่งเชิญหงส์ขึ้นมาแขวนบนเสาเพื่อเตรียมสำหรับใช้ในการประกอบพิธีช้าหงส์เรียบร้อยแล้ว โดยที่ตัวหงส์จะมีการปักเทียนขี้ผึ้งไว้ทั้งหมด ๖ เล่ม คือ ที่ปากหงส์ ๑ หางหงส์ ๑ ที่ปีกหงส์ด้านซ้าย ๒ และที่ปีกหงส์ด้านขวาอีก ๒ บริเวณด้านหน้าเสา ตั้งศิลาบด (สีขาว) ที่เรียกว่า “บัพโต” ถัดไปบริเวณหน้าประตูก่อนถึงข้างออก จัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีของพระราชครูพราหมณ์ มี “โต๊ะเบญจคัพ” อยู่ด้านหน้า (มีลักษณะเป็นโต๊ะสีขาว มีความสูงไม่มากนัก บนโต๊ะมีถ้วยขนาดเล็กซึ่งทำจากวัสดุที่ต่างกันจำนวน ๖ ใบ ได้แก่ แก้ว ทอง นาก เงิน สำริด เหล็ก โดยในถ้วยทั้งหมดจะยังไม่มีการเติมน้ำใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังตั้งสังข์ไว้ทางด้านขวา และตั้งกลศไว้ทางด้านซ้ายบนโต๊ะเบญจคัพอีกด้วย) ติดกันเป็น “ภัทรบิฐทอดขลัง” (มีลักษณะเป็นโต๊ะสีขาวคล้ายกับโต๊ะเบญจคัพ แต่มีขนาดสูงกว่าเล็กน้อย) ด้านข้างทางซ้ายมือของที่นั่งพระราชครู ตั้งกากะเยีย(ที่มีคัมภีร์สมุดข่อยวางไว้ด้านบน) และโตกมุกที่วางคัมภีร์ไว้ด้านบน รวมถึงโคมไฟด้วย
(โต๊ะข้าวตอกด้านหน้าเทวรูปประธานของสถานพระนารายณ์ในคืนวันแรม ๕ ค่ำ)
(โต๊ะเบญจคัพย์)
|
เสร็จสิ้นการสวด พระราชครูเดินไปกราบที่หน้าโต๊ะเข้าตอก แล้วประพรมน้ำเทพมนต์สิ่งของบูชาต่างๆบนโต๊ะข้าวตอก ได้แก่ ข้าวตอก กล้วย ส้ม เผือกต้ม มันต้ม แตงกวา ข้าวต้มน้ำวุ้น ที่ใต้โต๊ะข้าวตอกมีอ้อย และมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปลือกทั้งอ่อนและแก่ ด้านข้างมีโต๊ะสำหรับตั้งโตกมุกที่วางน้ำตาลซึ่งขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่างๆ (แต่จะไม่มีโตกมุกที่วางโหลแก้วใส่ผลไม้ ดังที่มีในคืนแรม ๑ ค่ำ และคืนวันแรม ๓ ค่ำ) ลำดับต่อไปพระราชครูแกว่งคันชีพ ( เป็นจงกลเทียนที่มีหลายกิ่ง หล่อจากทองเหลือง) สั่นกระดิ่ง ถวายดอกไม้แล้วจึงกลับไปนั่งที่เดิม จากนั้นพราหมณ์สองคนนำตะลุ่มไม้สีดำจำนวนสามใบมายังโต๊ะข้าวตอก เพื่อจัดของบูชาบนโต๊ะใส่ในตะลุ่มทั้งสามนั้น เสร็จแล้วนำตะลุ่มที่ใส่ของบูชาวางเรียงไว้บนโต๊ะข้าวตอก
พระราชครูประพรมน้ำเทพมนต์ที่หน้าโต๊ะข้าวตอก
พราหมณ์ช่วยกันจัดเครื่องบูชาลงตะลุ่มทั้งสามใบ
|
พราหมณ์ ๓ คน (ซึ่งทำหน้าที่สวดสักการะก่อนหน้านี้) เรียงลำดับทีละคนเข้าประกอบพิธียกอุลุบ (คือการยกตะลุ่มที่ใส่ของบูชาต่างๆแด่พระเป็นเจ้าด้วยการสวดพระเวทถวาย) สำหรับอุลุบและเครื่องพิธีในคืนนี้จะไม่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด แต่จะนำมาแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมพิธีแทน
(พราหมณ์ยกอุลุบถวายพระเป็นเจ้า)
(ในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายเหตุผลไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ความโดยสรุปว่า เนื่องจากพระนารายณ์นี้ ทางศาสนาพราหมณ์(ที่นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่) เชื่อว่าเป็นผู้รับใช้พระอิศวร ให้อวตารลงมาปราบปรามผู้ที่จะกระทำผิดหรือเป็นอันตรายแก่โลก เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงเป็นผู้ทำลาย และพระนารายณ์ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้แม้แต่เครื่องบูชาในเวลาพระราชพิธีตรีปวายก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ (แจกให้ได้เฉพาะประชาชนทั่วไป) และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องวันพิษ มักจะเกิดการตีรันฟันแทงกันชุกชุม พราหมณ์ทั้งปวงต้องระวังกันอย่างกวดขัน เพราะพระนารายณ์เป็นผู้ทำลายเช่นนี้ จึงปรากฏพระนามว่า “พระเดช” (คู่กับพระอิศวรซึ่งปรากฏพระนามว่า “พระคุณ”)
|
จากนั้นพราหมณ์อัญเชิญเทวรูปพระนารายณ์ออกจากบุษบกบนหลังหงส์ ไปประดิษฐานบนพานทองส่งให้พระราชครูพรามณ์อัญเชิญออกจากสถานพระนารายณ์กลับไปประดิษฐานยังสถานพระอิศวร โดยมีพราหมณ์และเจ้าหน้าที่เป่าสังข์ส่งเสด็จพระเป็นเจ้าตลอดทาง ถือเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีตรีปวายอย่างสมบูรณ์
(พระราชครูอัญเชิญเทวรูปออกจากสถานพระนารายณ์(โบสถ์ริม)กลับไปประดิษฐานไว้ที่สถานพระอิศวร(โบสถ์ใหญ่)หลังเสร็จสิ้นพิธี)
|
|
|
หมายเหตุ : ภาพประกอบในบทความนี้มีที่มาหลายส่วนทั้งที่นำมาจากหนังสือ รวมทั้งภาพถ่ายที่ผู้เรียบเรียงบันทึกภาพด้วยตนเอง ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวมีทั้งที่ถ่ายมาจากสถานที่จริง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าภาพมีความคมชัดค่อนข้างมาก และภาพที่ผู้เรียบเรียงถ่ายมาจากจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทวสถาน ซึ่งภาพที่ออกมาอาจจะมีความคมชัดไม่มาก แต่ก็พอที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นภาพการประกอบพิธีภายในเทวสถานได้อย่างชัดเจนไม่มากก็น้อย
ในส่วนของการเรียบเรียงข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีตรียัมปวายในบทความนี้ ผู้เขียนได้อาศัยการสังเกตจากพิธีจริง แล้วจึงนำมาตรวจทานกับเอกสารต่างๆ ฉะนั้นหากมีลายละเอียดใดที่ผิดพลาดและตกหล่นไป ผู้เรียบเรียงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ และขอน้อมรับทุกความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำปรับปรุงให้บทความมีความถูกต้องและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ขออำนาจเทวบารมีแห่งองค์พระอิศวร พระผู้ทรงเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่แห่งสามโลก โปรดจงดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข ความเจริญ ปราศจากภยันตรายทั้งปวงเทอญ |
เอกสารและภาพประกอบการเรียบเรียง :
- หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- “กรรมวิธี-ช้าหงส์” โดยพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล)
- บทความเรื่อง “ลำดับพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย” วารสารหอเวทวิทยาคม โดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล )
- หนังสือ ประวัติพระคเณศ ฉบับของเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์
- สูจิบัตรเนื่องในงานเสวนาพิธีฉลองเสาชิงช้า “โล้ชิงช้า พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ ไม่ใช่พราหมณ์ชมพูทวีป” โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
- “โล้ชิงช้า : เสาชิงช้า กับพิธีตรียัมปวาย” และ “ ลำดับพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย” โดย อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
- เอกสารเผยแพร่เรื่อง “พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย” โดย เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ |
ขอขอบพระคุณผู้เขียนหนังสือรวมทั้งเจ้าของภาพประกอบ
(ที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น)ทุกท่าน ซึ่งผู้เรียบเรียงได้นำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงรวมทั้งนำภาพมาใช้ประกอบในบทความ
ทางผู้เรียบเรียงจึงขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ครับ